วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่น







กลุ่มสานตะกร้ารักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ

กลุ่มสานตะกร้าจากวัสดุรีไซค์เคิลชมรมผู้สูงอายุบ้านเกาะลอยอำเภอเมือง ราชบุรีที่ตั้ง ณ. สถานีอนามัยบ้านเกาะลอย หมู่ที่ 8บ้าเกาะลอย ตำบลเาะพลับพลาอ.เมือง จ.ราชบุรี

จากภูมิปัญญามาเป็นผลิตภัณฑ์




จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้สูงอายุบ้านเกาะลอยทำให้เกิดงานฝีมือชิ้นเยี่ยมที่มีความสวยงามและมีประโยชน์ในการใช้สอยในครัวเรือนและยังเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน สำนักงานในรูปแบบตะกร้าในรูปทรงต่าง ๆที่ทำจากวัสดุรีไซค์เคิล ที่มีความคงทนและสวยงาม จากฝีมือของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุบ้านเกาะลอยผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มและความคิดสร้างสรรค์แล้วนำมาประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเกิดเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปรวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ผลงานที่เกิดจากฝีมือและความภาคภูมใจของสมาชิกชมรมและขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี โรงพยาบาลโพธาราม ศูนย์อนามัยที่ 4 จังหวัดราชบุรี และหน่วยงานภาคเอกชน เมื่อได้นำผลงานจัดแสดงและจัดจำหน่าย ด้วยผลงานที่มีคุณภาพ ประณีต และสวยงาม ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือก ให้ได้รับรางวัลที่ 1 ในด้านรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสุขภาพ เมื่อ วันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2546 ณ.โรงพยาบาบราชบุรีในขณะเดียวกันก็ได้รับเลือกให้วางจำหน่ายที่ร้านบ้านปวีณา ของท่านส.ส.ปวีณา หงสกุล และยังได้รับเลือกให้แสดงสินค้าที่ร้านผลิตภัณฑ์ชุมชมของท่าน ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี ส่วนในภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนเช่นร้านแพรทองไหมไทย ทางเข้าโรบินสันราชบุรี (สาขาราชบุรี)

ภูมิปัญญาท้องถิ่น





โอ่งมังกร"ราชบุรี"


"โอ่งมังกร"สัญญาลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำขวัญ"เมืองโอ่งมังกร"
ตั้งแต่ตอนเราเด็กๆยังจำได้ว่า มีโอ่งมังกรไว้รองรับน้ำฝนกันทุกบ้าน บางบ้านใช้ใบเล็กเก็บข้าวสาร เป็นไหน้ำปลา หรือไหดองผัก ถือเป็นภาชนะหลักในการเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ ในห้องน้ำบ้านเราเราก็มีโอ่งน้ำไว้ตักอาบ ยังไม่มีฝักบัว หรือถังพลาสติกเหมือนในปัจจุบัน

"โอ่งมังกร"อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดราชบุรี
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งนั้น แต่เนื่อจากภาวะสงครามโลกคร้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเอง และถ้าย้อนอดีต จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย และนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่จ.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่" และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา



"โอ่งราชบุรี ทำไมต้องมีลายมังกร"
แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆ เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าว เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากการพัฒนาคิดหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แน่นอน ในที่สุดก็เลือกสรรลวดลาย"มังกร"ขึ้น ตามคติความเชื่อในวัฒนธรรมของจีน
มังกร(Dragon) เป็นสัตว์ชั้นสูง ในแต่ละประเทศก็จะมีตำนานของตัวเอง แล้วแต่ความเชื่อบ้านเราเรียกว่า "พญานาค" จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็คงเป็นที่รูปร่าง หน้าตา ชื่อ และความเชื่อ มีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึง มังกร ในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า "มังกรพยุหะ" มีการเขียนรูปมังกร คล้ายพญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไป บางตัวมีเกล็ด บางตัวมีลายแบบงู

จีนแบ่งมังกรออกเป็น 3 ชนิด คือ
1.หลง เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด ชอบอยู่บนฟ้า
2.หลี เป็นพวกไม่มีเขา ชอบอยู่ในมหาสมุทร
3.เจียว เป็นพวกมีเกล็ด อยู่ตามแม่น้ำ ลุ่มหนอง คลองหรือถ้ำ


มังกรของจีน จัดให้มีระดับ และหน้าที่แตกต่างกันไปด้วย คือ
1. มังกรฟ้า หรือ มังกรสวรรค์ (เทียนหลง) เป็นมังกรชั้นสูง มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแลสวรรค์
2. มังกรเทพเจ้า หรือมังกรจิตวิณญาณ (เซินหลง) มีหน้าที่ทำให้เกิด ลม ฝน แก่มวลมนุษย์
3.มังกรพิภพ (ตี้หลง) มีหน้าที่กำหนดเส้นทาง ดูแล แม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลองบึง
4.มังกรเฝ้าทรัพย์ (ฝู ซาง หลง) มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
ลักษณะของมังกร
โดยทั่วไปในลวดลายของโอ่งลายมังกร จะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ แต่ถ้าเป็นมังกร สัญญลักษณ์ชั้นสูง ของกษัตริย์ หรือ ฮองเต้ จะมี 5 เล็บ
เมื่อกล่าวถึง"มังกร"ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความยิ่งใหญ่ จึงได้มีการวาดโอ่งลวดลายมังกร เพื่อเป็นศิริมงคล ความชื่นชมชื่นชอบของผู้ใช้
แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดาย โลกเปลี่ยนแปลงไป ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น นำความเจริญของวัตถุนิยม ทุนนิยม ความไม่สะดวก หรือ จะเชยล้าสมัย ตามคำกล่าวอ้าง จะมีซักกี่บ้านกี่เรือนในปัจจุบันที่ยังนิยมใช้โอ่งลายมังกร ไว้เป็นภาชนะเก็บกักน้ำ แม้ว่าลูกหลาน ทายาทของผู้เฒ่าจีนเหล่านั้น พยายามเปลี่ยนแปลง พัฒนา รูปแบบ จากดินเผา เป็นเซรามิคซึ่งยังคงลวดลายมังกรที่ยิ่งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานตามแนวบรรพบุรุษ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=138590



วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551

ในหลวงกับเทคโนโลยี

* พ่อของแผ่นดิน 5 ธันวา *

วันพ่อ ก่อเกิดสุข สร้างเสริมลูก เผ่าไทย ขยายผล
ลูกขอกราบ แทบเท้า เอามงคล ลูกทุกคน รักพ่อ ขอแทนคุณ
งานพ่อหนัก ลูกประจักษ์ ในดวงจิต ขออุทิศ กายใจ สนับสนุน
ลูกทุกคน รักพ่อ พร้อมเทิดทูน ขอเนื้อบุญ จงบันดาล ผสานใจ
ทั่วแผ่นดิน ถิ่นแคว้น แดนเหนือใต้ ทรงห่วงใย เสริมสร้าง ทางสดใส
ให้รักษ์น้ำ รักษ์ดิน ตราบสิ้นใจ ขาดสิ่งใด ก็ไร้ค่า พาเศร้าตรม
เมื่อดินดำ น้ำชุ่ม ไม่กลุ้มจิต สร้างชีวิต เสริมชีวา พาสุขสม
สุขภาพดี ถ้วนหน้า ธันวาคม ชาวโลกชม พ่อไทย จากใจจริง

* ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตราบนิรันดรเพื่อไทยทั้งประเทศ *





“ไบโอดีเซล” จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์


ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2544
อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่าหลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ มีดังนี้
*1. ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์
*2.การปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม คือ
-ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
-การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
-การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน
*3. การปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ
* การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ
-ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ
-ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้
*การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้


วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร
1. เพื่อใช้ปลูกข้าว
เขตชลประทาน - ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนอัตรา 1.5 ตัน/ไร่ - ดินที่มีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ใช้ในอัตรา 1 ตัน/ไร่
เขตเกษตรน้ำฝน - ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนในอัตรา 2.5 ตัน/ไร่ - ดินที่มีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ใช้ปูนอัตรา 1.5 ตัน/ไร่
ขั้นตอนการปรับปรุงดินเปรี้ยว หลังจากหว่านปูนให้ทำการไถแปร และปล่อยน้ำให้แช่ขังในนาประมาณ 10 วัน จากนั้นระบายน้ำออกเพื่อชะล้างสารพิษ และขังน้ำใหม่เพื่อรอปักดำ
2. เพื่อใช้ปลูกพืชล้มลุก
การปลูกพืชผัก มีวิธีการ คือ
ยกร่อง กว้าง 6-7 เมตร คูระบายน้ำกว้าง 1.5 เมตร และลึก 50 ซม.
ไถพรวนดินและตากดินทิ้งไว้ 3-5 วัน
ทำแปลงย่อยบนสันร่อง ยกแปลงให้สูง 25-30 ซม. กว้าง 1-2 เมตร เพื่อระบายน้ำบนสันร่องและเพื่อป้องกันไม่ให้แปลงย่อยแฉะเมื่อรดน้ำหรือเมื่อมีฝนตก
ใส่หินปูนฝุ่นหรือดินมาร์ล 2-3 ตัน/ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ทิ้งไว้ 15 วัน
ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ 5 ตัน/ไร่ ก่อนปลูก 1 วัน เพื่อปรับปรุงดิน
การปลูกพืชไร่บางชนิด กระทำได้ 2 วิธี คือ
แบบยกร่องสวนและแบบปลูกเป็นพืชครั้งที่ 2 หลังจากการทำนา
การปลูกพืชไร่แบบยกร่องสวนมีวิธีเตรียมพื้นที่เช่นเดียวกับการปลูกพืชผัก
การปลูกพืชไร่หลังฤดูทำนา ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน
การเตรียมพื้นที่ต้องยกแนวร่องให้สูงกว่าการปลูกบนพื้นที่ดอน 10-20 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแช่ขังถ้ามีฝนตกผิดฤดู ถ้าพื้นที่นั้นได้รับการปรับปรุงโดยการใช้ปูนมาแล้ว คาดว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้ปูนอีก
3. เพื่อปลูกไม้ผล
สร้างคันดินกั้นน้ำล้อมรอบแปลงเพื่อป้องกันน้ำขัง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกตามต้องการ
ยกร่องปลูกพืชตามวิธีการปรับปรุงพื้นที่ที่มีดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล
น้ำในคูระบายน้ำจะเป็นน้ำเปรี้ยว ต้องระบายออกเมื่อเปรี้ยวจัดและสูบน้ำจืดมาแทน ช่วงเวลาถ่ายน้ำ 3-4 เดือนต่อครั้ง
ควบคุมระดับน้ำในคูระบายน้ำ ไม่ให้ต่ำกว่าชั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรท์ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาที่จะทำให้ดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น
ใส่ปูน อาจเป็นปูนขาว ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น โดยหว่านทั่วทั้งร่องที่ปลูกอัตรา 1-2 ตัน/ไร่
กำหนดระยะปลูกตามความเหมาะสมของแต่ละพืช
ขุดหลุม กว้าง ยาว และลึก 50-100 ซม. แยกดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ทิ้งไว้ 1-2 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรค เอาส่วนที่เป็นหน้าดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือบางส่วนของดินชั้นล่างแล้วกลบลงไปในหลุมให้เต็ม ใส่ปุ๋ยหมัก 1 กก./ต้น โดยผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับปูนในอัตรา 15 กก./หลุม
ดูแลปราบวัชพืช โรค แมลง และให้น้ำตามปกติ สำหรับการใช้ปุ๋ยบำรุงดินขึ้นกับความต้องการและชนิดของพืชที่จะปลูก


http://www.deqp.go.th/king/king4-2.jsp?languageID=th

บำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ




หลักการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติแบบบ่อผึ่งหรือบ่อตกตะกอน และระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย (Oxidation Pond, Sedimental Pond and Lagoon Treatment)ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหลมผักเบี้ย
พระราชดำริระบบบ่อบำบัดน้ำเสียและวัชพืชบำบัด (Lagoon Treatment and Grass Filtration)
โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการศึกษาวิจัย วิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริที่มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ปัญหาภาวะมลพิษมีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ชุมชนเมืองต่างๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสว่า
"...ปัญหาสำคัญคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ ศึกษามาแล้วเหมือนกันทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้และในเมืองไทยเองก็ทำได้...ทำได้แต่ที่ที่ทำนั้นต้องมีที่สัก 5,000 ไร่... ขอให้ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาช่วย ร่วมกันทำ ทำได้แน่..."
จากการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นมาก่อนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนานมาแล้ว นี่เอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สำนักงาน กปร. และกรมชลประทานร่วมกัน ศึกษาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสำรวจพื้นที่ดำเนินการพบว่าบริเวณ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,135 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีปัญหาด้านเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด เมื่อคณะทำงานนำผลการศึกษาในการจัดทำโครงการขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เห็นด้วยกับรูปแบบและแนวความคิดดังกล่าว สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน จึงร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการ ฯ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย และทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวได้ การสนองพระราชดำริในโครงการนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมประมง เป็นต้น

1. เริ่มด้วยเทศบาลเมืองเพชรบุรี ดำเนินการสร้างท่อระบายรวบ รวมน้ำเสีย (Combine Waste Water System) ส่งน้ำเสียไปยังสถานีสูบน้ำเสียที่คลองยาง ที่จุดนี้จะทำหน้าที่เป็นบ่อดักขยะ เป็นบ่อตกตะกอนขั้นต้นที่สามารถลดค่าความสกปรกไปได้ถึง 40 %
2. ระบบการบำบัดน้ำเสีย มีการสูบน้ำเสียจากคลองยางส่งไปตามท่อเป็นระยะทางถึง 18 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ตำบลแหลมผักเบี้ย ซึ่งดำเนินการพร้อมกัน 2 ระบบ คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบกำจัดขยะ
ระบบบำบัดน้ำเสีย แบ่งออกเป็น
• ก. ระบบบำบัดหลัก ประกอบด้วย ระบบบำบัดน้ำเสีย (Lagoon Treatment) มีจำนวน 5 บ่อ ในพื้นที่ 95 ไร่ น้ำเสียจะไหลเข้าตามระบบน้ำล้น ดังนี้คือ - บ่อตกตะกอน (Sedimentation Pond) - บ่อบำบัด 1- 3 (Oxidation Pond) - บ่อปรับคุณภาพน้ำ (Polishing Pond) น้ำเสียจะไหลเข้าสู่บ่อตกตะกอนแล้วผ่านเข้าไปยังบ่อบำบัดที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แล้วไหลล้นเข้าสู่บ่อปรับคุณภาพน้ำเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะระบายลงสู่ป่าชายเลนซึ่งน้ำเสียขั้นสุดท้ายนี้จะได้รับการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากคณะวิจัยอย่างใกล้ชิด
• ข. ระบบบำบัดรอง อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ ประมาณ 60 ไร่ ประกอบด้วย - ระบบบึงชีวภาพ (Constructed Wetland) เป็นการดำเนินการโดยให้น้ำเสียผ่านบ่อดินตื้น ๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในบึงปลูกพืชที่มีรากพุ่งประเภทกกพันธุ์ต่าง ๆ และอ้อ เป็นต้น ซึ่งพืชเหล่านี้มีระบบรากแผ่กระจายยึดเกาะดิน และสามารถเจริญเติบโตดีในน้ำขังเสียน้ำเสียจะเริ่มจากต้นบึงไหลล้นผ่านพืชต่าง ๆ ไปท้ายบึงอย่างต่อเนื่องโดยพืชทั้งหลายจะช่วยดูดซับสารพิษและอินทรีย์สารให้ลดน้อยลง ตลอดจนทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้หมดไป - ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า (Grass Filtration) โดยการปล่อยน้ำเป็นระยะ (Bat Flow) ผ่านเข้าไปในแปลงหญ้ามีขนาดและลักษณะเหมือนระบบบึงชีวภาพ ระบบแปลงหญ้านี้จะรับน้ำจากบ่อปรับคุณภาพน้ำของระบบบ่อบำบัดน้ำเสียเข้าไปขังในแปลงหญ้าเป็นระยะ ๆ นานครั้งละ 1-2 สัปดาห์ กระทั่งน้ำมีความสะอาดดียิ่งขึ้น - ระบบกรองน้ำเสียด้วยป่าชายเลน (White and RedMangrove) น้ำเสียจะได้รับการบำบัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ 30 ไร่ ที่ทำการปลูกป่าชายเลน ซึ่งปลูกแบบคละผสมผสานกันในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งน้ำที่ผ่านป่าชายเลนนี้จะได้รับการบำบัดจนเป็นน้ำที่ดีตามมาตรฐานเช่นกัน การนี้นับเป็นแนวพระราชดำริที่เป็นแบบฉบับแก่ชุมชนทั้งหลายทั่วประเทศ ได้ดำเนินการเจริญรอยตามพระยุคลบาทโดยยึดการดำเนินงานที่แหลมผักเบี้ยเป็นต้นแบบ

http://www.deqp.go.th/king/king3-3.jsp?languageID=th

บำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ

ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมี (Physical - Chemical Process) ด้วยการ ทำให้ตกตะกอน (Presipitation) ตามพระราชดำริ "สารเร่งตกตะกอน PAC" (Poly Aluminum Chloride)
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนาและกรมชลประทาน ดำเนินการสนองพระราชดำริด้วยการประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยสารเคมี ที่สามารถบำบัดน้ำเสีย ให้มีสภาพดีขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่อไป ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย คณะกรรมการ มูลนิธิชัยพัฒนาไปทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องบำบัดน้ำเสียโดย ใช้สารเร่งตกตะกอน ณ บริเวณสนามข้างอาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งในวโรกาสนี้ได้พระราชทานชื่อ Model ของเครื่องบำบัด น้ำเสียนี้ว่า "TRX-1" และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการ ศึกษาวิจัย และพัฒนา สรุปได้ว่า
1. ควรดำเนินการศึกษา ค้นคว้า เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผลิตสาร PAC (Poly Aluminum Chloride) ขึ้นภายในประเทศเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนในการบำบัดน้ำลดลง

2. ควรนำน้ำเสียประเภทต่าง ๆ และน้ำเสียจากคลองสามเสน คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ มาทำการทดลองบำบัดโดยตรวจสอบคุณภาพน้ำทั้งก่อน และหลังบำบัด โดยเฉพาะเรื่องเชื้อโรคและสารตก ตะกอนจำพวกโลหะหนัก เพื่อที่จะนำตะกอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ทำปุ๋ย เป็นต้น
3. คุณภาพน้ำภายหลังบำบัด อาจจะต้องผ่านกระบวนการเติมออกซิเจนอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เครื่องกลเติม อากาศเข้าไปด้วย โดยต่อท่อดูดอากาศผสมกันตรงบริเวณ ท่อน้ำไหลออกที่ผ่านการบำบัดแล้ว คุณสมบัติ เครื่องบำบัดน้ำเสียโดย ใช้สารเร่งตกตะกอน (PAC) เป็นเครื่องบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง มีระบบการทำงานที่ไม่ยุ่งยากสามารถควบคุมการทำงานได้อย่างง่าย มีขนาดกระทัดรัด ทำให้สะดวกในการ เคลื่อนย้ายและติดตั้ง นอกจากนั้นยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การเดินระบบและการบำรุงรักษาอีกด้วย
หลักการบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่อง PAC
1. ให้มลสารที่ผสมอยู่ในน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเกิดการตกตะกอน

2. กรณีที่มีมลสารขนาดเล็กเกิดการแขวนลอย และแพร่กระจายผสมอยู่ในน้ำ จนยากแก่การตกตะกอน ให้เติมสารเพื่อช่วยเร่งการตกตะกอนให้เร็วขึ้นโดย "สารช่วยเร่งการตกตะกอน" สารช่วยเร่งการตกตะกอนนี้มีอยู่หลายชนิด เช่น สารส้ม เฟอร์ริกคลอไรด์ เฟอร์ริกซัลเฟต โซเดียมอลูเมต และปูนขาว ซึ่งวิธีการนี้จำเป็นต้องใช้สารโซดาไฟช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง ของน้ำให้เหมาะสมด้วย แต่สารช่วยเร่งการตกตะกอนที่มีพัฒนาใหม่ล่าสุดนี้ เรียกว่า "โพลีอลูมินัมคลอไรด์" (Poly Aluminum Chloride) เรียกสั้น ๆ ว่า PAC

• ขั้นที่ 1 : น้ำเสียเข้าระบบขั้นต้น (Influent Discharge) โดยวิธีการปั๊มน้ำสูบส่งน้ำดิบให้ไหลผ่านเข้าเส้นท่อ พร้อมทั้ง ใช้ปั๊มเติมสารเร่งตกตะกอน (Dosing Pump) เข้าสู่เส้นท่อเพื่อผสมกับน้ำดิบในปริมาณที่เหมาะสม

• ขั้นที่ 2 : เข้าสู่ระบบกวนเร็ว (Rapid Mixer) เป็นขั้นตอนที่เกิดการผสมคลุกเคล้า กันอย่างรวดเร็วระหว่างน้ำดิบและสารเร่งตกตะกอนภายในท่อกวน เร็วที่ออกแบบ เป็นแผ่นเกลียว เพื่อบังคับน้ำที่มีความเร็วให้ไหลวนและปั่นป่วน (Turbulence) จนเกิดเป็นกระบวนการผสมระหว่างของเหลวทั้งสองชนิดได้อย่างรวดเร็ว และสมบูรณ์
• ขั้นที่ 3 : ผ่านไปยังระบบกวนน้ำ (Slow Mixer) ด้วยการลดความเร็วของน้ำ จากท่อกวนเร็ว เพื่อให้เกิดการรวมตัวของ อนุภาคสารแขวนลอย จนกลายเป็น กลุ่มก้อนขนาด ใหญ่ (Flock) แล้วจึงไหลออกจากถังกวนช้าผ่านแผ่นกั้นลดความเร็ว ของน้ำเป็นระยะต่อเนื่องกัน
• ขั้นที่ 4 : ระบบการตกตะกอน ด้วยการออกแบบรูปทรงถังตกตะกอนแบบทรงกลม (Sedimentation Tank) ซึ่งทำหน้าที่ทำให้กลุ่มก้อนของอนุภาคสารแขวนลอย ที่จับตัวกัน สามารถตกตะกอนลงสู่ก้นถังได้อย่างรวดเร็ว ส่วนน้ำใสที่ผ่านการตกตะกอนแล้วจะไหลล้นกระจายออกสู่ด้านบนตามเส้นรอบวง แล้วผ่านระบบการกรองตะกอนลอย ต่อจากนั้นจึงไหลลงสู่รูเจาะด้านล่างที่บังคับ ให้น้ำไหลเป็นฝอย เพื่อให้น้ำมีพื้นที่สัมผัสกับอากาศได้มากที่สุด อันเป็นการเติมอากาศให้กับน้ำขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำเอา น้ำนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
การบำบัดน้ำเสียด้วย PAC นี้ ได้รับผลดีเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ด้วยวิธีการขจัดน้ำขุ่น ได้ดีกว่าสารส้มถึง 3 เท่า และไม่เกิด ความเสียหายใดดังที่เกิดจากสารส้ม กอปรกับตกตะกอนได้รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมาก จึงนับเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่สามารถ เข้ามามีบทบาทในกระบวนการ Recycle ที่สำคัญยิ่งที่จะนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ ได้อีกในอนาคต

http://www.deqp.go.th/king/king3-7.jsp?languageID=th

หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ"น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)
การใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย หรือที่เรียกกันว่า "น้ำดีไล่น้ำเสีย" นั้น ได้แก่ การใช้น้ำที่มีคุณ ภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไป และช่วยให้น้ำเน่าเสียมีสภาพเจือจางลง ทั้งนี้โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่ง น้ำภายนอกส่งเข้าไปตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ หรือคลองบางลำภฯลฯ เป็นต้นซึ่งกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำ เจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อ การกำหนดวงรอบ เกี่ยวกับการไหลของน้ำไปตามคลองต่าง ๆ นับแต่ปากคลอง ที่น้ำไหลเข้าจนถึงปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม โดยที่น้ำสามารถไหลเวียนไปตามลำคลองได้ตลอด แล้ว ย่อมสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครกไปได้มาก ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลอง ต่าง ๆ ตอนช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี จากแนวพระราชดำริดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงบังเกิดกรรมวิธีในการบำบัดน้ำเสีย 2 ประการ ตามแนวพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" คือ

วิธีที่หนึ่ง ให้เปิดประตูอาคารควบคุมน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น
วิธีที่สอง ให้ขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลองสายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและให้ คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆของกรุงเทพมหานคร ส่วนคลองเปรมประชากรตอนบนนั้น ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเป็นปริมาณมาก อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าสู่ ทุ่งบางไทร-บางปะอินเพื่อการเพาะปลูก และเพื่อให้คลองเปรมประชากรตอนบนมีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไปได้
แนวพระราชดำริสองประการนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวว่าทรงเชี่ยวชาญในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียอย่างง่าย ประหยัดพลังงาน และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลาซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่งในพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทเพื่อความสุขของปวงชนทั้งหลาย

http://www.deqp.go.th/king/king3-4.jsp?languageID=th

ใครสวยกว่ากันเอ่ย....

ใครสวยกว่ากันเอ่ย....

แอ๊บ...แบ๊ว...

แอ๊บ...แบ๊ว...

คิดถึงจัง...

คิดถึงจัง...

อ๊ะๆ...อย่าเบียดคนสวย

อ๊ะๆ...อย่าเบียดคนสวย